วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

คนใช้ลิง


  
    ลิงมีภาพลักษณ์ของสัตว์ที่ว่องไว ปีนต้นไม้เก่ง ความคิดพื้นๆเหล่านี้เป็นที่มาของการนำจุดเด่นของลิงมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าการนำลิงมาฝึกเพื่อเล่นละครลิงในภาคกลางของประเทศหรือการฝึกลิงเก็บมะพร้าวที่ภาคใต้ แต่การฝึกลิงนั้นไม่ใชเรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ 



    เรื่องราวเกี่ยวกับลิงเก็บมะพร้าวที่ภาคใต้เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไป แต่คงจะจะมีไม่กี่คนที่เคยเห็นลิงเก็บมะพร้าวจริงๆและไม่ใช่ว่าลิงทุกตัวจะสามารถนำมาฝึกใช้งานได้ เนื่องจากลิงแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะนิสัยเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน แต่ที่คล้ายกันอย่างหนึ่งคือลิงทุกตัวจะฉลาด ดื้อและดุร้าย ดังนั้นลิงที่สามารถนำมาใช้งานได้ จะต้องเป็นลิงที่ผ่านการฝึกมาอย่างดีแล้วและลิงที่สามารถนำมาฝึกได้คือลิงกังเท่านั้น 

   การฝึกลิงมาใช้งานได้ทำกันมาเป็นเวลานานแล้วที่ภาคใต้แต่การฝึกลิงที่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงที่สุดคือการฝึกลิงของคุณ สมพร แซ่โค้ว ที่เกาะสมุย

     คุณสมพรเกิดมาในครอบครัวที่มีอาชีพทำสวนมะพร้าวที่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว จากประสพการณ์ชีวิตที่ได้เห็นลิงมาตั้งแต่เด็ก ทำให้สมพรได้เห็นจุดด้อยของการทำงานบนความสัมพันธุ์ที่ขัดแย้งกันระหว่างลิงกับคน เมื่อลิงเก็บผลมะพร้าวที่ไม่ต้องการลงมาก็จะมีการ ทำโทษเฆี่ยนตีอย่างรุนแรงเป็นการสั่งสอน นอกจากนี้บางครั้งลิงก็ต้องตายบนยอดมะพร้าวเนื่องจากถูกเชือกพันติดอยู่กับทางมะพร้าวและไม่มีใครสามารถขึ้นไปช่วยได้

    สมพรมองเห็นจุดด้อยของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับลิง เขาอาศัยหลักธรรมของหลวงพ่อพุทธาสเป็นแนวทางในการคิดค้นวิธีการฝึกลิงขึ้นมาใหม่ ให้ความรักและพยายามทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของลิง เขาได้เริ่มสร้างความผูกพันโดยการอยู่ร่วมกัน สร้างความคุ้นเคย พูดช้าๆซ้ำๆ จนลิงเริ่มเข้าใกล้ แล้วยอมให้แตะต้องตัวในที่สุด

     เขาได้เริ่มฝึกลิงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 โดยเริ่มฝึกตามขั้นตอน ทำซ้ำๆ ช้าๆ ด้วยความตั้งใจและใจเย็น สมพร มอบความรักและความใกล้ชิดจนสามารถเปลี่ยนสัญชาติญาณสัตว์ป่าของลิงให้คลายลงจนกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่สามารถสื่อสารกับคนและทำงานหาเงินมาเลี้ยงเจ้าของได้  

    ระบบฝึกลิงของสมพรจะเป็นที่ยอมรับไปทั่วปักษ์ใต้ โรงเรียนฝึกลิงของสมพรมีชื่อเสียงไปทั่วโลก นอกจากลิงจะถูกฝึกให้เล่นละครหรือที่เรียกว่าละครลิงแล้ว ทุกวันนี้ สถานท่องเที่ยวหลายแห่ง ได้ทำการฝึกลิงให้แสดงการเก็บมะพร้าวให้นักท่องเที่ยวดู จากอาชีพลิงเก็บมะพร้าวที่เกือบจะสูญหายไปจากภาคใต้ สมพรได้ปลุกกระแสลิงขึ้นมาขึ้นมาอีกครั้งจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก น่าเสียดายที่สมพรได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ ปี 2545 



วิรัตน์ กับ เจ้าน้อย ลิงที่เพิ่งเข้าสังกัด เดินตามหลังเจ้าของแต่โดยดี

    วิรัตน์ คนปักษ์ใต้ลูกพังงาขนานแท้ ก็เป็นอีกคนที่มีอาชีพรับจ้างเก็บมะพร้าวตามรอยบรรพบุรุษ เขาใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับลิงมาร่วม30ปี จึงมีกลิ่นลิงติดตัว เขาเล่าว่าเมื่อเขาเข้าใกล้กรงลิงตอนไปเที่ยวสวนสัตว์ที่ภูเก็ต  ลิงที่ถูกขังอยู่ในกรงจะพากันยักคิ้วหลิ่วตาให้แทนการขู่กรรโชกแบบที่ทำกับนักท่องเที่ยวทั่วๆไป 

      ทุกวันนี้ วิรัตน์มีลิงคู่ใจอยู่2ตัวคือ เจ้าน้อยและเจ้าน้อง  เจ้าน้องเป็นลิงที่เลี้ยงมาก่อน รู้งานโดยไม่ต้องสั่งงาน ส่วนเจ้าน้อย วิรัตน์เพิ่งจะได้มายังไม่ถึง 20วันดี


เจ้าน้อง  ลิงชำนาญการพิเศษ กำลังพยักเพยิดหยอกล้อตากล้อง

"หน่วยนั้นแหละ แขบเข้า เดี๋ยวมดกัดตายหรอกมัวแต่เล่นอยู่ได้"
 เสียงตะโกนของวิรัตน์ ทำให้คนที่ผ่านไปมาอดสงสัยไม่ได้ว่าแกกำลังพูดอยู่กับใคร

     เมื่อเข้าไปไกล้จึงรู้ว่าวิรัตน์กำลังถือเชือกเส้นหนึ่งควบคุมอะไรบางอย่าง เขายืนอยู่ใต้ต้นมะพร้าว คอยดึงเชือกเส้นยาวที่ผูกโยงกับลิงตัวหนึ่งบนยอดมะพร้าว 

    ปากตะโกน มือก็กระตุกเชือกไปพลาง วิรัตน์ใช้ทักษะเฉพาะตัวในการควบคุมลิงที่อยู่บนยอดมะพร้าวให้ทำตามคำสั่งอย่างไม่บิดพลิ้ว
   
     แม้ว่าเจ้าน้อยจะเป็นลิงอ่อน(อายุยังน้อย)ที่วิรัตน์เพิ่งซื้อมาด้วยราคา 30,000 บาท  แต่มันเป็นลิงหัดใหม่ที่ทำงานได้คล่องแคล่วและเชื่อฟังคำสั่งแบบไม่อิดออด คนและลิงต่างสื่อสารกันด้วยภาษาไทยสำเนียงปักษ์ใต้แบบคนกับคนไม่ใช่แบบคนกับสัตว์

    บางครั้งเจ้าน้อยลังเลสับสนในการเลือกผลมะพร้าวที่มันจะปลิด มันก็จะกระโจนไปมาระหว่างทะลายโดยไม่ยอมปลิดลูกจนกว่าจะได้รับคำยืนยันจากวิรัตน์ 
 "ทะลายนั้นแหละสุกแล้ว  แขบๆเข้า เดี๋ยวมดกัดตายหรอก"  วิรัตน์ออกคำสั่งพร้อมกระตุกเชือกเบาๆ เจ้าลิงหนุ่มก็ทำตามอย่างว่าง่าย มันปั่นผลมะพร้าวจนหมุนติ้วและขาดหลุดออกจากทะลายอย่างง่ายดาย


เจ้าน้อยกำลังเลือกมะพร้าวสุก ด้วยความชำนาญ



   ชั่วชีวิตของวิรัตน์ ทำอาชีพ "คนใช้ลิง" มาตลอด นอกจากการรับจ้างเก็บมะพร้าวแล้ว ทุกวันนี้วิรัตน์ยังพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นพ่อค้าขายส่งมะพร้าวอีกด้วย ลูกค้าของวิรัตน์ส่วนใหญ่ก็เป็นแม่ค้าคั้นน้ำกะทิสดขายและแม้ค้าขนมสดที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ 

รอจนเซ็ง เพราะไม่มีคิวปีนมะพร้าว


  วิรัตน์มีปรัชญาการทำงานที่ทันสมัย เขาถือคติว่า ไม่ว่าคนหรือสัตว์ต่างก็มีหัวใจ มีร้อนหนาว มีโกรธมีกลัวเหมือนๆกัน เมื่อมีการทำโทษก็ต้องมีการให้รางวัล ลิงของวิรัตน์ทุกตัวจะได้รับรางวัลเป็นนมเปลี้ยวขนาด 250 ซีซีตัวละหนึ่งขวดทุกครั้งหลังภาระกิจการขึ้นมะพร้าวแล้วเสร็จ

    " เวลาคนทำโทษสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นช้างหรือลิง เราก็แค่ต้องการให้มันรู้กฏและเชื่อฟัง ทำโทษแค่พอเจ็บพอให้จำ แต่เวลาสัตว์มันทำกับคนเลี้ยง มันจะเอาถึงตาย ดังนั้น นอกจากต้องให้ความรักกับมันแล้ว ยังต้องคอยดูอารมณ์มันให้ดี สัตว์ แม้จะแสนรู้แค่ไหน มันก็ยังมีสัญชาติญานดิบของความเป็นสัตว์ป่าอยู่ตลอดเวลา" วิรัตน์กล่าวทิ้งท้ายก่อนที่จะนำลิงคู่ใจไปผูกล่ามกับต้นไม้ไกล้ๆกับกองมะพร้าวที่เพิ่งรวบรวมเสร็จ

     ในขณะที่สองมือพลอ(ปลอก)มะพร้าว วิรัตน์เปลี่ยนเรื่องคุยมาเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับลิง " ผมมีรถเก่าอยู่คันหนึ่ง ใช้หลายสิบปีแล้วแต่ยังแล่นฉิว" วิรัตน์หันมาอารัมบทกับคน "แม้จะเก่าแต่มันก็เป็นระบบหัวฉีดรุ่นแรกๆเชียวนะ ผมซื้อมาหลายปีแล้ว มันมาจากน้ำพักน้ำแรงลิงทั้งนั้น"  เขาเล่าแบบให้เกียรติลิงเหมือนจะบอกเป็นนัยนัยว่า ถ้าเขาไปไหนลิงก็จะทวงสิทธิ์ไปด้วยเสมอ 

    " ผมอยากจะถอยรถใหม่สักคันเหมือนกัน แต่เห็นราคาแล้วก็ต้องระงับความอยากได้ไว้ก่อน"  วิรัตน์รำพึงก่อนหันมามองเจ้าน้องและน้อยลิงคู่ชีพแบบชั่งใจ



ข้อมูลเกี่ยวกับลิงกัง   https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2559

เที่ยวเกาะล้านแบบประหยัด

  ได้ลองไปเกาะล้าน (ที่ฝรั่งรู้จักกันในนาม Coral Islands) แบบประหยัดมาแล้ว เคยสงสัยว่าทำไมฝรั่งที่่เดินทางมาไกลสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายให้อยู่ในงบประมาณได้ เราเป็นคนไทยทั้งที อ่านหนังสือไทยออก คุยกันรู้เรื่อง ทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้ 

  ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งกึ่งผู้ดีหรือฝรั่งระดับแบคแพคเกอร์ส่วนใหญ่มาเที่ยวเมืองไทยแบบประหยัดกันทั้งนั้น เราน่าจะเรียนรู้วิธีการเที่ยวอย่างชาญฉลาดของเขาบ้างว่า เขาทำกันอย่างไร ส่วนใหญ่แล้วนักท่องเที่ยวฝรั่งดังกล่าวมีการกำหนดสิ่งเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า

1 มีการกำหนดงบประมาณ
2 มีการกำหนดพื้นที่ท่องเที่ยว(ไม่สะเปะสะปะแวะไปเรื่อย)
3 มีการหาข้อมูลก่อนการเดินทาง
4 มีการศึกษาข้อมูลประเทศเป้าหมายมาอย่างดี

        งั้นเรามาริ่มเลยดีกว่า
   เอาเป็นว่าเราจะไปเที่ยวเกาะล้าน เริ่มต้นกันที่กรุงเทพมหานคร และกำหนดงบประมาณไม่เกิน 2500 บาทต่อการไปพัก 1 คืน หลักปฏิบัติข้อแรกคือมาให้ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิให้ได้เสียก่อน เพราะที่นั่นเป็นชุมทางรถตู้ไปพัทยา

      ค่ารถเมล์จากจุดไกลสุดในเขตกรุงเทพมหานครมาถึงอนุสาวรีย์ฯเบ็ดเสร็จไม่ควรเกิน30บาท ถ้าจะมากับรถไฟฟ้า บีทีเอส ในยุคปี พ.ศ.2559  ขึ้นสถานีต้นทางที่ระยะไกลสุดก็ไม่เกิน 32บาท ก็มาถึงอนุสาวรีย์ชัยในเวลาไม่เกิน20นาที มาถึงแล้วก็มองหาคิวรถตู้ไปพัทยากันเลย อยู่มุมไหนก็ลองสอบถามดูเอา เมื่อพบแล้วก็ให้สอบถามว่ารถตู้พัทยาคันที่ไปถึงท่าเรื่อบาลีไฮเป็นรถสายไหนก็จับรถสายนั้น สนนราคาก็ 97บาทถ้วน นั่งรอรถไม่เกิน30นาที รถก็ออก(เต็มออก)

     ไม่ว่าจะเป็นวันปรกติหรือช่วงวันสุดสัปดาห์ รถที่แล่นผ่านอนุสาวรีย์ชัยฯจะพบกับปัญหารถติดเป็นปรกติ แต่สำหรับรถตู้โดยสารสายทุกสาย คนขับรถตู้จะรู้จักใช้เส้นทางลัดในการลัดเลาะสู่เส้นทางเป้าหมาย รถตู้สายตะวันออกก็เช่นกันจะใช้เส้นทางเหล่านี้ออกจากกรุงเทพฯไปทะลุเส้นทางมอเตอร์เวย์อย่างไม่ยากเย็น คนขับ ขับรถด้วยความเร็วสูง(แต่ปลอดภัย)จนถึงท่าเรื่อบาลีไฮ พัทยาใต้ภายใน 2 ชั่วโมง 30 นาที


ท่าเรือบาลีไฮ


   ถึงท่าเรือแล้ว ถ้าหิวก็หาข้าวกินที่ท่าเรือได้ในสนนราคา45-50 บาทต่อหนึ่งอิ่มส่วนน้ำดื่มที่นี่ต้องซื้อน้ำดื่มเป็นปรกติไม่มีน้ำฟรีไว้บริการ

      เรือจะเข้ามาเทียบท่าทุกสองชั่วโมงในวันปรกติแต่ถ้าเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์หรือวันสุดสัปดาห์ เรือจะเทียบท่าถี่กว่าปรกติ การลงเรือโดยสารที่ท่าเรือบาลีไฮ ไม่ต้องเข้าคิวซื้อตั๋วที่ห้องขายตั๋วแต่จ่ายกันสดๆคนละ30บาทก่อนลงเรือ

      กรมเจ้าท่ากำหนดจำนวนผู้โดยสารไว้ 85 คน แต่ในทางปฏิบัติจริงจำนวนคนโดยสารบนเรือแต่ละเที่ยวน่าจะเกินร้อย

   ในเรือมีชูชีพไว้บริการ(วางไว้อย่างสะเปะสะปะ)แต่ไม่มีคำแนะนำใดๆและไม่มีใครสนใจนำมาสรวม มีแค่ฝรั่งขี้กลัวไม่กี่คน(พูดเล่น)ที่ยอมสรวมชูชีพตามกฏของการโดยสารเรือ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ถ้าไม่ยุ่งอยู่กับการกินก็จะอยู่กับการถ่ายรูปเป็นส่วนใหญ่



     ก่อนเรือออก จะมีแม่ค้านำน้ำแข็ง(ถุงละ20บาท)และข้าวเหนียวไก่ทอดชุดละ50บาท ลงมาเร่ขาย ใครรู้สึกหิวและไม่ทำตัวอนามัยจัดก็ลองซื้อมากินดู อร่อยและประหยัดไปได้มาก

     เรือใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาทีเป็นอย่างช้าก็จะถึงท่าเรือ "หน้าบ้าน" บนเกาะล้าน

     สภาพท่าเรือบนเกาะล้านคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เพิ่งไปถึงและเหล่าที่กำลังลงเรือกลับพัทยาใต้




      เมื่อถึงเกาะล้านแล้วถ้าไม่ได้จองที่พักไว้ ก็ต้องหาที่พักกันก่อน ซึ่งที่หน้าท่าก็มีโต๊ะบริการไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้จองที่พัก แต่เพื่อความสะดวกแนะนำให้จองที่พักไว้ก่อนจะดีกว่า





            ถ้าจองรีสอร์ทเอาไว้แล้ว แค่โทรแจ้งว่าเรือเทียบท่าแล้ว ทางรีสอร์ทจะส่งพนักงานมารับทันที ด้วยพาหนะประเภทนี้






หรือที่สะดวกกว่าก็ต้อง...ประเภทนี้






        ถนนในเกาะล้านเป็นถนนและปูถนนด้วยตัวหนอนซีเมนต์แบบมาตรฐาน แม้ถนนจะเล็กและแคบแต่ถนนก็โล่งและสะอาด







     คนส่วนใหญ่สัญจรไปมาด้วยมอเตอร์ไซค์ แม้เส้นทางจะจอแจเป็นบางขณะ แต่คนใช้ถนนก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ที่นี่ไม่มีทางเอกทางโทให้ยึดถือ ไม่มีสัญญาณไฟจราจรปรากฏให้เห็นแต่ก็ไม่ค่อยเกิดอุบัติเหตุให้เป็นข่าว




      เส้นทางที่จะนำไปจุดท่องเที่ยวต้องผ่านเส้นทางขึ้นผ่านภูเขาขนาดที่ไม่สูงมากนักแบบนี้



          อาชีพ ...คนท้องถิ่นที่นี่จะทำธุรกิจที่พัก และมีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว


เป็นทั้งที่พักและร้านขายของ








วันดีดี รีสอร์ท ราคา 2000 ขึ้นไป สำหรับห้องติดทะเล


     ผู้ประกอบการรีสอร์ทที่นี้เป็นกันเองกับแขกที่มาพักและมีอัธยาศัยดีมาก แทบทุกรีสอร์ทจะมีอาหารเช้าเป็นของแถมเหมือนรีสอร์ทั่วไปแต่ที่ไม่เหมือนที่อื่นคือ ถ้ากินไม่อิ่มขอเพิ่มได้(โดยเฉพาะที่ ดีดีสอร์ท) 

    ระบบไฟฟ้าบนเกาะ
   ทุกวันนี้ บนเกาะสว่างไสวไปทั่วแล้ว แต่ก่อนไฟฟ้าบนเกาะมาจากระบบปั่นไฟผสมผสานไปกับไฟฟ้าระบบกังหันลมทำให้ราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่นี่มีราคาแพงถึงหน่วยละ42บาท แต่ทุกวันนี้ระบบสายเคเบิลใต้ทะเลได้ช่วยให้ค่าไฟฟ้าลดลงไปไม่น้อย


กังหันลมผลิตไฟฟ้า

        มีโรงงานผลิตน้ำจืดบนเกาะ
    บริษัทยูนิเวอร์แซลยูทิลลิตี้จำกัด(อิสต์วอเตอร์)ได้รับสัญญาจากบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออจำกัด(มหาชน)ให้เข้าไปบริหารจัดการกิจการของการประปาบนเกาะล้านเพื่อรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวบนเกาะล้าน ระบบผลิตน้ำจากน้ำทะเลได้แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2549 สามารผลิตน้ำจืดจากทะเล 250-300 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน   


โรงผลิตน้ำจืดจากทะเล บนเกาะล้าน



       ด้วยความเป็นเกาะขนาดเล็กที่ห่างแผ่นดินใหญ่เกือบ10กิโล น้ำจืดจึงไม่เพียงพอต่อการอุปโภค ในเชิงธุรกิจ น้ำจืดที่นี่มีที่มาได้สามทางคือ จากแหล่งน้ำจืดในเกาะ หรือจ้างเรือขนส่งน้ำจากแผ่นดินใหญ่มาเก็บกักในเกาะและจากบริการของการประปาที่ผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ทำให้น้ำที่นี่ที่มีราคาแพงถึงหน่วยละ 72บาท


   เพราะอะไรก็แพงกว่าชาวบ้านเขาจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมราคาค่าห้องพักที่นี่จึงค่อนข้างแพงในสายตาของคนไทยทั่วไปแต่ถ้าไปเทียบกับราคาที่พักที่ภูเก็ตราคาของที่นี่ก็จะเป็นราคาก็ไม่ได้แพงจนไม่มีเหตุผล





        ที่นี่มีโรงกำจัดขยะเป็นของตัวเอง ทำให้ภูเขาขยะลดขนาดลงไปเยอะ







   



        ไม่ต้องห่วงเรื่องเจ็บป่วย ที่นี่มีโรงพยาบาล



     
 การขนส่งลำเลียงภายในเกาะ ทั้งน้ำและสิ่งของอุปกรณืก่อสร้าง ใช้ระบบลากจูงโดยด้วยเจ้านี่ (โดยเฉพาะยี่ห้อคูโบต้า)





     อาหารการกิน


        มีร้านไอสครีมอร่อยๆไว้บริการในราคาไม่แพง




      ร้านส้มตำไก่ย่างที่รสชาติพอกินได้ราคาก็ไม่แพงเหมือนที่คิดไว้



   

    อาหารทะเลแบบบ้านๆ(พื้นบ้าน)ซื้อกันสดๆ บริการย่างกันร้อนๆกินกันตรงนั้น(มีโต๊ะให้บริการ)


อาหารทะเลริมหาดซื้อสดๆบริการปิ้งย่างกันร้อนๆ




  การเติมน้ำมันรถ  ด้วยความเป็นชุมชนเข้มแข็ง คนบนเกาะรู้จักกันหมด มอเตอร์ไซค์ที่เป็นพาหนะหลัก จึงไม่เคยหายไปจากเกาะ ปัญหาเดียวที่มีคือ น้ำมันที่นี่แพงมาก เพราะส่วนใหญ่ต้องเติมจากปัมป์แก้วที่ราคาสูงกว่าบนแผ่นดินใหญ่



   
    
การเล่นน้ำทะเล...ลงเล่นน้ำที่หาดที่เล่นน้ำได้ซึ่งมีด้วยกันหลายหาด แต่ไม่ขอน้ำมากล่าว เพราะจะไม่เน้นรายละเอียดให้คนอ่านเสียเวลา


หาดแสม



หาดสังวาลย์


มีทางเดินคอนกรีตจากถนน

     เรื่องพระเรื่องเจ้ากันบ้าง 
     นอกจากจะมีวัดอยู่บนเกาะแล้ว ยังมีสำนักสงฆ์(สำนักสงฆ์เขาใหญ่)ตั้งอยู่บนยอดเขาที่สูงที่สุดบนเกาะล้าน มีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่บนยอดเขา ต้องปีนบันไดชันขึ้นไปประมาณ250ขั้น



รอยพระพุทธบาทบนยอดเขา

           ระหว่างทางขึ้นเขา มีรูปหล่อหลวงปู่ทวดแร่องค์ใหญ่ให้คนได้กราบไหว้ขอพรตามวิสัยชาวพุทธแบบไทยๆ




     ระหว่างทางขึ้นเห็นทิวทัศน์ทะเลได้ชัดเจนและมองเห็นฝั่งพัทยาได้จากระยะไกล




   


    ก็เอาแค่นี้ก่อนแล้วมาดูสนนราคาว่าสักเท่าไรกันสำหรับทริปการท่องเที่ยวแบบประหยัดชุดนี้


          ค่าบีทีเอส                                     32  บาท
          ค่ารถตู้มาท่าเรือบาลีไฮ                97  บาท
          ค่าเรือ                                           30  บาท
          ค่ารถไปรีสอร์ท                   0  
          ค่ารีสอร์ทต่อคืน(ระดับกลาง)      900  บาท
          ค่าอาหารต่อมื้อ 3 มื้อ                 300  บาท
          ค่าเช้ามอเตอร์ไวค์/วัน                200 บาท
          ค่าใช้จ่ายจิปาถะ                         500 บาท
          ค่าเรือกลับฝั่งพัทยา                    30  บาท 
          ค่ารถตู้กลับ                                  97 บาท
          ค่าบีทีเอสถึงปากซอย                 32  บาท
          กลับเข้าบ้านในซอย                   เดินเอา

        รวมค่าใช้จ่ายแบบชิลชิล          2,218 บาท

      เห็นทีคนกรุงเทพฯหรือคนต่างจังหวัดที่อาศัยในกรุงเทพฯที่ไม่เคยไปเกาะล้านน่าจะลองไปเที่ยวตอนสุดสัปดาห์กันที่นั้นดู ค่าใช้จ่ายไม่ได้แพงอย่างที่คิดเลยครับ