วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

คนใช้ลิง


  
    ลิงมีภาพลักษณ์ของสัตว์ที่ว่องไว ปีนต้นไม้เก่ง ความคิดพื้นๆเหล่านี้เป็นที่มาของการนำจุดเด่นของลิงมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าการนำลิงมาฝึกเพื่อเล่นละครลิงในภาคกลางของประเทศหรือการฝึกลิงเก็บมะพร้าวที่ภาคใต้ แต่การฝึกลิงนั้นไม่ใชเรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ 



    เรื่องราวเกี่ยวกับลิงเก็บมะพร้าวที่ภาคใต้เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไป แต่คงจะจะมีไม่กี่คนที่เคยเห็นลิงเก็บมะพร้าวจริงๆและไม่ใช่ว่าลิงทุกตัวจะสามารถนำมาฝึกใช้งานได้ เนื่องจากลิงแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะนิสัยเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน แต่ที่คล้ายกันอย่างหนึ่งคือลิงทุกตัวจะฉลาด ดื้อและดุร้าย ดังนั้นลิงที่สามารถนำมาใช้งานได้ จะต้องเป็นลิงที่ผ่านการฝึกมาอย่างดีแล้วและลิงที่สามารถนำมาฝึกได้คือลิงกังเท่านั้น 

   การฝึกลิงมาใช้งานได้ทำกันมาเป็นเวลานานแล้วที่ภาคใต้แต่การฝึกลิงที่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงที่สุดคือการฝึกลิงของคุณ สมพร แซ่โค้ว ที่เกาะสมุย

     คุณสมพรเกิดมาในครอบครัวที่มีอาชีพทำสวนมะพร้าวที่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว จากประสพการณ์ชีวิตที่ได้เห็นลิงมาตั้งแต่เด็ก ทำให้สมพรได้เห็นจุดด้อยของการทำงานบนความสัมพันธุ์ที่ขัดแย้งกันระหว่างลิงกับคน เมื่อลิงเก็บผลมะพร้าวที่ไม่ต้องการลงมาก็จะมีการ ทำโทษเฆี่ยนตีอย่างรุนแรงเป็นการสั่งสอน นอกจากนี้บางครั้งลิงก็ต้องตายบนยอดมะพร้าวเนื่องจากถูกเชือกพันติดอยู่กับทางมะพร้าวและไม่มีใครสามารถขึ้นไปช่วยได้

    สมพรมองเห็นจุดด้อยของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับลิง เขาอาศัยหลักธรรมของหลวงพ่อพุทธาสเป็นแนวทางในการคิดค้นวิธีการฝึกลิงขึ้นมาใหม่ ให้ความรักและพยายามทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของลิง เขาได้เริ่มสร้างความผูกพันโดยการอยู่ร่วมกัน สร้างความคุ้นเคย พูดช้าๆซ้ำๆ จนลิงเริ่มเข้าใกล้ แล้วยอมให้แตะต้องตัวในที่สุด

     เขาได้เริ่มฝึกลิงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 โดยเริ่มฝึกตามขั้นตอน ทำซ้ำๆ ช้าๆ ด้วยความตั้งใจและใจเย็น สมพร มอบความรักและความใกล้ชิดจนสามารถเปลี่ยนสัญชาติญาณสัตว์ป่าของลิงให้คลายลงจนกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่สามารถสื่อสารกับคนและทำงานหาเงินมาเลี้ยงเจ้าของได้  

    ระบบฝึกลิงของสมพรจะเป็นที่ยอมรับไปทั่วปักษ์ใต้ โรงเรียนฝึกลิงของสมพรมีชื่อเสียงไปทั่วโลก นอกจากลิงจะถูกฝึกให้เล่นละครหรือที่เรียกว่าละครลิงแล้ว ทุกวันนี้ สถานท่องเที่ยวหลายแห่ง ได้ทำการฝึกลิงให้แสดงการเก็บมะพร้าวให้นักท่องเที่ยวดู จากอาชีพลิงเก็บมะพร้าวที่เกือบจะสูญหายไปจากภาคใต้ สมพรได้ปลุกกระแสลิงขึ้นมาขึ้นมาอีกครั้งจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก น่าเสียดายที่สมพรได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ ปี 2545 



วิรัตน์ กับ เจ้าน้อย ลิงที่เพิ่งเข้าสังกัด เดินตามหลังเจ้าของแต่โดยดี

    วิรัตน์ คนปักษ์ใต้ลูกพังงาขนานแท้ ก็เป็นอีกคนที่มีอาชีพรับจ้างเก็บมะพร้าวตามรอยบรรพบุรุษ เขาใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับลิงมาร่วม30ปี จึงมีกลิ่นลิงติดตัว เขาเล่าว่าเมื่อเขาเข้าใกล้กรงลิงตอนไปเที่ยวสวนสัตว์ที่ภูเก็ต  ลิงที่ถูกขังอยู่ในกรงจะพากันยักคิ้วหลิ่วตาให้แทนการขู่กรรโชกแบบที่ทำกับนักท่องเที่ยวทั่วๆไป 

      ทุกวันนี้ วิรัตน์มีลิงคู่ใจอยู่2ตัวคือ เจ้าน้อยและเจ้าน้อง  เจ้าน้องเป็นลิงที่เลี้ยงมาก่อน รู้งานโดยไม่ต้องสั่งงาน ส่วนเจ้าน้อย วิรัตน์เพิ่งจะได้มายังไม่ถึง 20วันดี


เจ้าน้อง  ลิงชำนาญการพิเศษ กำลังพยักเพยิดหยอกล้อตากล้อง

"หน่วยนั้นแหละ แขบเข้า เดี๋ยวมดกัดตายหรอกมัวแต่เล่นอยู่ได้"
 เสียงตะโกนของวิรัตน์ ทำให้คนที่ผ่านไปมาอดสงสัยไม่ได้ว่าแกกำลังพูดอยู่กับใคร

     เมื่อเข้าไปไกล้จึงรู้ว่าวิรัตน์กำลังถือเชือกเส้นหนึ่งควบคุมอะไรบางอย่าง เขายืนอยู่ใต้ต้นมะพร้าว คอยดึงเชือกเส้นยาวที่ผูกโยงกับลิงตัวหนึ่งบนยอดมะพร้าว 

    ปากตะโกน มือก็กระตุกเชือกไปพลาง วิรัตน์ใช้ทักษะเฉพาะตัวในการควบคุมลิงที่อยู่บนยอดมะพร้าวให้ทำตามคำสั่งอย่างไม่บิดพลิ้ว
   
     แม้ว่าเจ้าน้อยจะเป็นลิงอ่อน(อายุยังน้อย)ที่วิรัตน์เพิ่งซื้อมาด้วยราคา 30,000 บาท  แต่มันเป็นลิงหัดใหม่ที่ทำงานได้คล่องแคล่วและเชื่อฟังคำสั่งแบบไม่อิดออด คนและลิงต่างสื่อสารกันด้วยภาษาไทยสำเนียงปักษ์ใต้แบบคนกับคนไม่ใช่แบบคนกับสัตว์

    บางครั้งเจ้าน้อยลังเลสับสนในการเลือกผลมะพร้าวที่มันจะปลิด มันก็จะกระโจนไปมาระหว่างทะลายโดยไม่ยอมปลิดลูกจนกว่าจะได้รับคำยืนยันจากวิรัตน์ 
 "ทะลายนั้นแหละสุกแล้ว  แขบๆเข้า เดี๋ยวมดกัดตายหรอก"  วิรัตน์ออกคำสั่งพร้อมกระตุกเชือกเบาๆ เจ้าลิงหนุ่มก็ทำตามอย่างว่าง่าย มันปั่นผลมะพร้าวจนหมุนติ้วและขาดหลุดออกจากทะลายอย่างง่ายดาย


เจ้าน้อยกำลังเลือกมะพร้าวสุก ด้วยความชำนาญ



   ชั่วชีวิตของวิรัตน์ ทำอาชีพ "คนใช้ลิง" มาตลอด นอกจากการรับจ้างเก็บมะพร้าวแล้ว ทุกวันนี้วิรัตน์ยังพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นพ่อค้าขายส่งมะพร้าวอีกด้วย ลูกค้าของวิรัตน์ส่วนใหญ่ก็เป็นแม่ค้าคั้นน้ำกะทิสดขายและแม้ค้าขนมสดที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ 

รอจนเซ็ง เพราะไม่มีคิวปีนมะพร้าว


  วิรัตน์มีปรัชญาการทำงานที่ทันสมัย เขาถือคติว่า ไม่ว่าคนหรือสัตว์ต่างก็มีหัวใจ มีร้อนหนาว มีโกรธมีกลัวเหมือนๆกัน เมื่อมีการทำโทษก็ต้องมีการให้รางวัล ลิงของวิรัตน์ทุกตัวจะได้รับรางวัลเป็นนมเปลี้ยวขนาด 250 ซีซีตัวละหนึ่งขวดทุกครั้งหลังภาระกิจการขึ้นมะพร้าวแล้วเสร็จ

    " เวลาคนทำโทษสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นช้างหรือลิง เราก็แค่ต้องการให้มันรู้กฏและเชื่อฟัง ทำโทษแค่พอเจ็บพอให้จำ แต่เวลาสัตว์มันทำกับคนเลี้ยง มันจะเอาถึงตาย ดังนั้น นอกจากต้องให้ความรักกับมันแล้ว ยังต้องคอยดูอารมณ์มันให้ดี สัตว์ แม้จะแสนรู้แค่ไหน มันก็ยังมีสัญชาติญานดิบของความเป็นสัตว์ป่าอยู่ตลอดเวลา" วิรัตน์กล่าวทิ้งท้ายก่อนที่จะนำลิงคู่ใจไปผูกล่ามกับต้นไม้ไกล้ๆกับกองมะพร้าวที่เพิ่งรวบรวมเสร็จ

     ในขณะที่สองมือพลอ(ปลอก)มะพร้าว วิรัตน์เปลี่ยนเรื่องคุยมาเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับลิง " ผมมีรถเก่าอยู่คันหนึ่ง ใช้หลายสิบปีแล้วแต่ยังแล่นฉิว" วิรัตน์หันมาอารัมบทกับคน "แม้จะเก่าแต่มันก็เป็นระบบหัวฉีดรุ่นแรกๆเชียวนะ ผมซื้อมาหลายปีแล้ว มันมาจากน้ำพักน้ำแรงลิงทั้งนั้น"  เขาเล่าแบบให้เกียรติลิงเหมือนจะบอกเป็นนัยนัยว่า ถ้าเขาไปไหนลิงก็จะทวงสิทธิ์ไปด้วยเสมอ 

    " ผมอยากจะถอยรถใหม่สักคันเหมือนกัน แต่เห็นราคาแล้วก็ต้องระงับความอยากได้ไว้ก่อน"  วิรัตน์รำพึงก่อนหันมามองเจ้าน้องและน้อยลิงคู่ชีพแบบชั่งใจ



ข้อมูลเกี่ยวกับลิงกัง   https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2559

เที่ยวเกาะล้านแบบประหยัด

  ได้ลองไปเกาะล้าน (ที่ฝรั่งรู้จักกันในนาม Coral Islands) แบบประหยัดมาแล้ว เคยสงสัยว่าทำไมฝรั่งที่่เดินทางมาไกลสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายให้อยู่ในงบประมาณได้ เราเป็นคนไทยทั้งที อ่านหนังสือไทยออก คุยกันรู้เรื่อง ทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้ 

  ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งกึ่งผู้ดีหรือฝรั่งระดับแบคแพคเกอร์ส่วนใหญ่มาเที่ยวเมืองไทยแบบประหยัดกันทั้งนั้น เราน่าจะเรียนรู้วิธีการเที่ยวอย่างชาญฉลาดของเขาบ้างว่า เขาทำกันอย่างไร ส่วนใหญ่แล้วนักท่องเที่ยวฝรั่งดังกล่าวมีการกำหนดสิ่งเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า

1 มีการกำหนดงบประมาณ
2 มีการกำหนดพื้นที่ท่องเที่ยว(ไม่สะเปะสะปะแวะไปเรื่อย)
3 มีการหาข้อมูลก่อนการเดินทาง
4 มีการศึกษาข้อมูลประเทศเป้าหมายมาอย่างดี

        งั้นเรามาริ่มเลยดีกว่า
   เอาเป็นว่าเราจะไปเที่ยวเกาะล้าน เริ่มต้นกันที่กรุงเทพมหานคร และกำหนดงบประมาณไม่เกิน 2500 บาทต่อการไปพัก 1 คืน หลักปฏิบัติข้อแรกคือมาให้ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิให้ได้เสียก่อน เพราะที่นั่นเป็นชุมทางรถตู้ไปพัทยา

      ค่ารถเมล์จากจุดไกลสุดในเขตกรุงเทพมหานครมาถึงอนุสาวรีย์ฯเบ็ดเสร็จไม่ควรเกิน30บาท ถ้าจะมากับรถไฟฟ้า บีทีเอส ในยุคปี พ.ศ.2559  ขึ้นสถานีต้นทางที่ระยะไกลสุดก็ไม่เกิน 32บาท ก็มาถึงอนุสาวรีย์ชัยในเวลาไม่เกิน20นาที มาถึงแล้วก็มองหาคิวรถตู้ไปพัทยากันเลย อยู่มุมไหนก็ลองสอบถามดูเอา เมื่อพบแล้วก็ให้สอบถามว่ารถตู้พัทยาคันที่ไปถึงท่าเรื่อบาลีไฮเป็นรถสายไหนก็จับรถสายนั้น สนนราคาก็ 97บาทถ้วน นั่งรอรถไม่เกิน30นาที รถก็ออก(เต็มออก)

     ไม่ว่าจะเป็นวันปรกติหรือช่วงวันสุดสัปดาห์ รถที่แล่นผ่านอนุสาวรีย์ชัยฯจะพบกับปัญหารถติดเป็นปรกติ แต่สำหรับรถตู้โดยสารสายทุกสาย คนขับรถตู้จะรู้จักใช้เส้นทางลัดในการลัดเลาะสู่เส้นทางเป้าหมาย รถตู้สายตะวันออกก็เช่นกันจะใช้เส้นทางเหล่านี้ออกจากกรุงเทพฯไปทะลุเส้นทางมอเตอร์เวย์อย่างไม่ยากเย็น คนขับ ขับรถด้วยความเร็วสูง(แต่ปลอดภัย)จนถึงท่าเรื่อบาลีไฮ พัทยาใต้ภายใน 2 ชั่วโมง 30 นาที


ท่าเรือบาลีไฮ


   ถึงท่าเรือแล้ว ถ้าหิวก็หาข้าวกินที่ท่าเรือได้ในสนนราคา45-50 บาทต่อหนึ่งอิ่มส่วนน้ำดื่มที่นี่ต้องซื้อน้ำดื่มเป็นปรกติไม่มีน้ำฟรีไว้บริการ

      เรือจะเข้ามาเทียบท่าทุกสองชั่วโมงในวันปรกติแต่ถ้าเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์หรือวันสุดสัปดาห์ เรือจะเทียบท่าถี่กว่าปรกติ การลงเรือโดยสารที่ท่าเรือบาลีไฮ ไม่ต้องเข้าคิวซื้อตั๋วที่ห้องขายตั๋วแต่จ่ายกันสดๆคนละ30บาทก่อนลงเรือ

      กรมเจ้าท่ากำหนดจำนวนผู้โดยสารไว้ 85 คน แต่ในทางปฏิบัติจริงจำนวนคนโดยสารบนเรือแต่ละเที่ยวน่าจะเกินร้อย

   ในเรือมีชูชีพไว้บริการ(วางไว้อย่างสะเปะสะปะ)แต่ไม่มีคำแนะนำใดๆและไม่มีใครสนใจนำมาสรวม มีแค่ฝรั่งขี้กลัวไม่กี่คน(พูดเล่น)ที่ยอมสรวมชูชีพตามกฏของการโดยสารเรือ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ถ้าไม่ยุ่งอยู่กับการกินก็จะอยู่กับการถ่ายรูปเป็นส่วนใหญ่



     ก่อนเรือออก จะมีแม่ค้านำน้ำแข็ง(ถุงละ20บาท)และข้าวเหนียวไก่ทอดชุดละ50บาท ลงมาเร่ขาย ใครรู้สึกหิวและไม่ทำตัวอนามัยจัดก็ลองซื้อมากินดู อร่อยและประหยัดไปได้มาก

     เรือใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาทีเป็นอย่างช้าก็จะถึงท่าเรือ "หน้าบ้าน" บนเกาะล้าน

     สภาพท่าเรือบนเกาะล้านคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เพิ่งไปถึงและเหล่าที่กำลังลงเรือกลับพัทยาใต้




      เมื่อถึงเกาะล้านแล้วถ้าไม่ได้จองที่พักไว้ ก็ต้องหาที่พักกันก่อน ซึ่งที่หน้าท่าก็มีโต๊ะบริการไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้จองที่พัก แต่เพื่อความสะดวกแนะนำให้จองที่พักไว้ก่อนจะดีกว่า





            ถ้าจองรีสอร์ทเอาไว้แล้ว แค่โทรแจ้งว่าเรือเทียบท่าแล้ว ทางรีสอร์ทจะส่งพนักงานมารับทันที ด้วยพาหนะประเภทนี้






หรือที่สะดวกกว่าก็ต้อง...ประเภทนี้






        ถนนในเกาะล้านเป็นถนนและปูถนนด้วยตัวหนอนซีเมนต์แบบมาตรฐาน แม้ถนนจะเล็กและแคบแต่ถนนก็โล่งและสะอาด







     คนส่วนใหญ่สัญจรไปมาด้วยมอเตอร์ไซค์ แม้เส้นทางจะจอแจเป็นบางขณะ แต่คนใช้ถนนก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ที่นี่ไม่มีทางเอกทางโทให้ยึดถือ ไม่มีสัญญาณไฟจราจรปรากฏให้เห็นแต่ก็ไม่ค่อยเกิดอุบัติเหตุให้เป็นข่าว




      เส้นทางที่จะนำไปจุดท่องเที่ยวต้องผ่านเส้นทางขึ้นผ่านภูเขาขนาดที่ไม่สูงมากนักแบบนี้



          อาชีพ ...คนท้องถิ่นที่นี่จะทำธุรกิจที่พัก และมีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว


เป็นทั้งที่พักและร้านขายของ








วันดีดี รีสอร์ท ราคา 2000 ขึ้นไป สำหรับห้องติดทะเล


     ผู้ประกอบการรีสอร์ทที่นี้เป็นกันเองกับแขกที่มาพักและมีอัธยาศัยดีมาก แทบทุกรีสอร์ทจะมีอาหารเช้าเป็นของแถมเหมือนรีสอร์ทั่วไปแต่ที่ไม่เหมือนที่อื่นคือ ถ้ากินไม่อิ่มขอเพิ่มได้(โดยเฉพาะที่ ดีดีสอร์ท) 

    ระบบไฟฟ้าบนเกาะ
   ทุกวันนี้ บนเกาะสว่างไสวไปทั่วแล้ว แต่ก่อนไฟฟ้าบนเกาะมาจากระบบปั่นไฟผสมผสานไปกับไฟฟ้าระบบกังหันลมทำให้ราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่นี่มีราคาแพงถึงหน่วยละ42บาท แต่ทุกวันนี้ระบบสายเคเบิลใต้ทะเลได้ช่วยให้ค่าไฟฟ้าลดลงไปไม่น้อย


กังหันลมผลิตไฟฟ้า

        มีโรงงานผลิตน้ำจืดบนเกาะ
    บริษัทยูนิเวอร์แซลยูทิลลิตี้จำกัด(อิสต์วอเตอร์)ได้รับสัญญาจากบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออจำกัด(มหาชน)ให้เข้าไปบริหารจัดการกิจการของการประปาบนเกาะล้านเพื่อรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวบนเกาะล้าน ระบบผลิตน้ำจากน้ำทะเลได้แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2549 สามารผลิตน้ำจืดจากทะเล 250-300 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน   


โรงผลิตน้ำจืดจากทะเล บนเกาะล้าน



       ด้วยความเป็นเกาะขนาดเล็กที่ห่างแผ่นดินใหญ่เกือบ10กิโล น้ำจืดจึงไม่เพียงพอต่อการอุปโภค ในเชิงธุรกิจ น้ำจืดที่นี่มีที่มาได้สามทางคือ จากแหล่งน้ำจืดในเกาะ หรือจ้างเรือขนส่งน้ำจากแผ่นดินใหญ่มาเก็บกักในเกาะและจากบริการของการประปาที่ผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ทำให้น้ำที่นี่ที่มีราคาแพงถึงหน่วยละ 72บาท


   เพราะอะไรก็แพงกว่าชาวบ้านเขาจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมราคาค่าห้องพักที่นี่จึงค่อนข้างแพงในสายตาของคนไทยทั่วไปแต่ถ้าไปเทียบกับราคาที่พักที่ภูเก็ตราคาของที่นี่ก็จะเป็นราคาก็ไม่ได้แพงจนไม่มีเหตุผล





        ที่นี่มีโรงกำจัดขยะเป็นของตัวเอง ทำให้ภูเขาขยะลดขนาดลงไปเยอะ







   



        ไม่ต้องห่วงเรื่องเจ็บป่วย ที่นี่มีโรงพยาบาล



     
 การขนส่งลำเลียงภายในเกาะ ทั้งน้ำและสิ่งของอุปกรณืก่อสร้าง ใช้ระบบลากจูงโดยด้วยเจ้านี่ (โดยเฉพาะยี่ห้อคูโบต้า)





     อาหารการกิน


        มีร้านไอสครีมอร่อยๆไว้บริการในราคาไม่แพง




      ร้านส้มตำไก่ย่างที่รสชาติพอกินได้ราคาก็ไม่แพงเหมือนที่คิดไว้



   

    อาหารทะเลแบบบ้านๆ(พื้นบ้าน)ซื้อกันสดๆ บริการย่างกันร้อนๆกินกันตรงนั้น(มีโต๊ะให้บริการ)


อาหารทะเลริมหาดซื้อสดๆบริการปิ้งย่างกันร้อนๆ




  การเติมน้ำมันรถ  ด้วยความเป็นชุมชนเข้มแข็ง คนบนเกาะรู้จักกันหมด มอเตอร์ไซค์ที่เป็นพาหนะหลัก จึงไม่เคยหายไปจากเกาะ ปัญหาเดียวที่มีคือ น้ำมันที่นี่แพงมาก เพราะส่วนใหญ่ต้องเติมจากปัมป์แก้วที่ราคาสูงกว่าบนแผ่นดินใหญ่



   
    
การเล่นน้ำทะเล...ลงเล่นน้ำที่หาดที่เล่นน้ำได้ซึ่งมีด้วยกันหลายหาด แต่ไม่ขอน้ำมากล่าว เพราะจะไม่เน้นรายละเอียดให้คนอ่านเสียเวลา


หาดแสม



หาดสังวาลย์


มีทางเดินคอนกรีตจากถนน

     เรื่องพระเรื่องเจ้ากันบ้าง 
     นอกจากจะมีวัดอยู่บนเกาะแล้ว ยังมีสำนักสงฆ์(สำนักสงฆ์เขาใหญ่)ตั้งอยู่บนยอดเขาที่สูงที่สุดบนเกาะล้าน มีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่บนยอดเขา ต้องปีนบันไดชันขึ้นไปประมาณ250ขั้น



รอยพระพุทธบาทบนยอดเขา

           ระหว่างทางขึ้นเขา มีรูปหล่อหลวงปู่ทวดแร่องค์ใหญ่ให้คนได้กราบไหว้ขอพรตามวิสัยชาวพุทธแบบไทยๆ




     ระหว่างทางขึ้นเห็นทิวทัศน์ทะเลได้ชัดเจนและมองเห็นฝั่งพัทยาได้จากระยะไกล




   


    ก็เอาแค่นี้ก่อนแล้วมาดูสนนราคาว่าสักเท่าไรกันสำหรับทริปการท่องเที่ยวแบบประหยัดชุดนี้


          ค่าบีทีเอส                                     32  บาท
          ค่ารถตู้มาท่าเรือบาลีไฮ                97  บาท
          ค่าเรือ                                           30  บาท
          ค่ารถไปรีสอร์ท                   0  
          ค่ารีสอร์ทต่อคืน(ระดับกลาง)      900  บาท
          ค่าอาหารต่อมื้อ 3 มื้อ                 300  บาท
          ค่าเช้ามอเตอร์ไวค์/วัน                200 บาท
          ค่าใช้จ่ายจิปาถะ                         500 บาท
          ค่าเรือกลับฝั่งพัทยา                    30  บาท 
          ค่ารถตู้กลับ                                  97 บาท
          ค่าบีทีเอสถึงปากซอย                 32  บาท
          กลับเข้าบ้านในซอย                   เดินเอา

        รวมค่าใช้จ่ายแบบชิลชิล          2,218 บาท

      เห็นทีคนกรุงเทพฯหรือคนต่างจังหวัดที่อาศัยในกรุงเทพฯที่ไม่เคยไปเกาะล้านน่าจะลองไปเที่ยวตอนสุดสัปดาห์กันที่นั้นดู ค่าใช้จ่ายไม่ได้แพงอย่างที่คิดเลยครับ
 

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เบื่อๆก็ข้ามไปเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก(อ่าวไทย)ดูบ้าง

    ถ้าจะพูดถึงชายฝั่งทะเลไทยทางฝั่งตะวันตกหรือที่รู้จักกันในนามฝั่งอันดามันแล้ว เชื่อว่าคนไทยทุกคนแทบจะปฏิเสธไม่ได้ว่าทะเลทางชายฝั่งอันดามันเป็นทะเลที่มีน้ำใสและสวยที่สุดในประเทศไทย แต่จะว่าไปแล้ว การคิดเช่นนี้ก็เป็นการคิดแบบเหมารวมจนเกินไป จึงอาจจะมีข้อโต้แย้งคำโตว่า แล้วทะเลฝั่งตะวันออกไม่มีสวยบ้างเลยหรือ ก็ขอฟันธงตอบแบบสั้นๆทันทีได้เลยว่า สวยเหมือนกันและสวยไม่แพ้ทะเลทางฝั่งอันดามันเลยทีเดียว

อันดามันของแท้


ตะวันลับฟ้าทางฝั่งอันดามัน

 
เกาะนางยวน จากฝั่งอ่าวไทย( ภาพเอื้อเฟื้อจาก http://pantip.com/topic/31978267)

    มาดูหมู่เกาะน้ำใสทรายสวยโดยการเริ่มต้นที่พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีกันเลย เกาะพงันกลางอ่าวไทยตอนกลางที่คนไทยไม่คุ้นเคยและไม่เป็นที่นิยมากเนื่องจากไปยากแต่กลับเป็นที่รู้จักในนามของเกาะสวรรค์ของนักท่องเที่ยวหนุ่มสาวรักอิสระชาวตะวันตก(โดยเฉพาะหนุ่มสาวประเภทฉายเดี่ยว) แทบทุกคนจะมุ่งมั่นไปที่งานฟูลมูลปาร์ตี้อันลือลั่น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ล่าสุด(ปี2557)มีข่าวการฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจนกระจายไปทั่วโลก ก็ไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาเฉลยปัญหาให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติกันเอาเองดีกว่า เพราะคนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีใครได้ไปเที่ยวที่นี่กันมากนัก เอนเอียงที่จะไปที่หมู่เกาะอ่างทองกันมากกว่าเพราะหมู่เกาะอ่างทองเหมาะที่จะเป็นที่ท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยไม่มีใครปฏิเสธว่าหมู่เกาะอ่างทองสวยและน่าไปเยือน
      ขึ้นไปอีกหน่อยจากเกาะพงันไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ45กิโลจะถึงเกาะนางยวน ซึ่งเป็นเกาะที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง แต่ต้องรับให้ได้ว่าสิ่งของทุกอย่างบนเกาะแพงกว่าปรกติมากจนไม่สนองตอบต่อนักท่องเที่ยวชาวไทยนัก จึงขอไถลขึ้นไปทางทิศตะวันออกแทน ไกลอีกนิดก้ทะลุทะลุภาคตะวันออกของไทย จะพบหมู่เกาะทางฝั่งตะวันออกของอ่วไทยตั้งแต่เกาะสิชังไปเรื่อยไปจนถึงเกาะช้างเกาะกูด สถานที่สำคัญบนบกที่มองข้ามไม่ได้ คือหาดพัทยา 
    หาดพัทยาขึ้นลือชาว่าเคยเป็นถิ่นของทหารอเมริกันยุคสงครามเวียตนามในอดีตที่เป็นผู้มาบุกเบิกจนหาดพัทยาเจริญรุ่งเรืองจนเป็นสวรรค์ของนักเที่ยวฝรั่งในยุคต่อมาและสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่นจนหมู่บ้านชายทะเลเล็กๆอย่างพัทยาเติบโตขยับขยายพื้นที่เมืองจนเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีขนาดพื้นที่เมืองใหญ่จนต้องมีระบบการบริหารส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขา
    ก่อนที่พัทยาจะโตขนาดนี้ พัทยาในอดีตเคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนไทย(คนกรุงเทพฯ)ยุคก่อนปี 2505 ที่ไกล้กรุงเทพฯที่สุด เป็นเมืองชายทะเลที่มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านกีฬาทางน้ำประเภทสกีน้ำและมักถูกนำมาเป็นฉากของภาพยนต์ไทยแทบทุกเรื่องในยุคนั้น พัทยามีบังกะโลหรูไว้บริการสนองตอบความเป็นส่วนตัวสำหรับคู่หนุ่มสาวที่มาค้างแรมสุดสัปดาห์ 
    ทุกวันนี้พัทยาเริ่มเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่แออัดตามลักษณะของเมืองใหญ่แบบกรุงเทพฯ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยจำนวนไม่น้อยจะใช้พัทยาเป็นที่พักหรือเป็นเมืองผ่านเพื่อลงไปเที่ยวเกาะกลางทะเลตะวันออก และเกาะที่ขึ้นชื่อและใกล้ฝั่งพัทยาที่สุดคือเกาะล้าน


น้ำทะเลใสบนเกาะล้าน



กรวดและเปลือหอยบนหาดตายาย เกาะล้าน


แทรคเตอร์ใช้ลากจูงบนเกาะล้าน




   จะเกาะล้านไปกันยังไง?
     การจะไปเกาะล้านไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไปแล้ว เพียงท่านจับรถมาให้ถึงท่าเรือบาลี ฮาย(Bali Hai Pier) พัทยาใต้ แล้วเลือกเอาว่าจะไปแบบส่วนตัวโดยการเช่าเหมาเรือหรือจะใช้บริการเรือโดยสารประจำทางที่ให้บริการตลอดวัน โดยเรือโดยสารประจำทางจะไปเทียบท่าที่ท่า"หน้าบ้าน" อัตราค่าโดยสารคนละ 30 บาทต่อเที่ยว
    ปรกติ จากกำหนดการเดินเรือ เรือจะออกจากท่าบาลี ฮาย ตามกำหนดการ ตั้งแต่เวลา 7.00น.เป็นต้นไป เรือจะให้บริการเที่ยวสุดท้ายจะออกเวลา 18.30น. ส่วนเที่ยวกลับ จากท่าหน้าบ้าน(บนเกาะล้าน) เรือจะออกเที่ยวแรกเวลา 6.30น. เที่ยวสุดท้าย เวลา 18.00น.

รายละเอียดเที่ยวเรือ:
เที่ยวขาไป จากพัทยาใต้ไป ท่าหน้าบ้าน(เกาะล้าน)
07:00
10:0012:0014:0015:3017:0018:30

จากท่าเรือแหลมบาลีฮาย(พัทยาใต้) ไปท่าหาดตาแหวน(เกาะล้าน)
08:00
09:00
11:00
13:00


เที่ยวขากลับจากเกาะล้าน

จากท่าหน้าบ้าน(เกาะล้าน) กลับ ท่าเรือแหลมบาลีฮาย(พัทยาใต้)
06:30
07:30
09:30
12:00
14:00
15:30
16:00
17:00
18:00

จากท่าหาดตาแหวน(เกาะล้าน) กลับ ท่าเรือแหลมบาลีฮาย(พัทยาใต้)
13:00
14:00
15:00
16:00
17:00

   แต่ในทางปฏิบัติในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ เรือไม่ได้ออกตามเวลาที่กำหนดแต่จะออกตามจำนวนผู้โดยสาร เต็มลำเรือเมื่อไรออกทันที ขอแนะนำว่า การขึ้นท่าบนเกาะล้านที่สะดวกสะบาย ให้ไปขึ้นที่ท่าหน้าบ้านจะสะดวกที่สุด

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ชายหาดที่หายไป ของฝั่งท่านุ่น

    เคยเขียนถึงสารสินไป 2-3ตอน ส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงแต่แพขนานยนต์กับการข้ามฟากไปมาระหว่างฝั่งพังงาและภูเก็ตแต่ไม่ค่อยได้เน้นย้ำถึงรายละเอียดของท่าเทียบแพทั้งสองเลย เชื่อว่าคนรุ่นใหม่คงจะไม่รู้จักชื่อพื้นๆของทั้งสองท่านี้และคงมีน้อยคนนักที่จะเคยจอดรถแวะทักทายคนท้องถิ่นที่นี้

      แพข้ามฟากถูกเรียกเป็นทางการว่าแพขนานยนต์แต่คนพื้นเพภูเก็ตดั้งเดิมเรียกว่าเรือท่านุ่น ส่วนคนในถิ่นที่นี่กลับเรียกว่าเรือเหล็ก ดังนั้นท่าเทียบแพขนานยนต์ก็น่าจะถูกเรียกว่า "ท่าเรือเหล็ก "
 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการ  

     เมื่อมองท่านุ่นจากท่าปากแหว่งก็จะเห็นสภาพของท่านุ่นแปลกไปจากที่เห็นทั่วไป โดยความเห็นส่วนตัวแล้วเห็นว่า ที่เทียบแพฝั่งท่านุ่นทั้งหมดน่าจะเกิดจากการถมดินบนป่าชายเลนมาสร้างท่าเทียบแพขนานยนต์ มีถนนผ่ากลางมาจนถึงท่าเทียบแพ การสร้างท่าเทียบมาขวางกระแสการไหลของน้ำทะเลทำให้เกิดปราการกั้นทราย พื้นดินจากฝั่งขวาของช่องแคบปากถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนโค้งเว้าเข้าไปแล้วพาทรายมาทับถมรอบบริเวณด้านหน้าของท่าเทียบแพจนเกิดเป็นหาดทรายขาวสวยงาม



ภาพหาดทรายขาวฝั่งท่านุ่น ปี 2502


   จากการบอกเล่าของ ผู้ใหญ่บ้านท่านุ่นคนปัจจุบัน(ผู้ใหญ่สมเกียรติ)เล่าว่าพื้นที่ท่านุ่นในอดีตเป็นหาดทรายทอดยาวลงไปในทะเลทางทิศตะวันออกไปไกลหลายร้อยเมตร แต่จากกการสร้างท่าเทียบแพในยุคนั้นทำให้ชายหาดทางฝั่งซ้ายของท่าเทียบแพถูกกระแสน้ำกัดเซาะหายไปจนเหลือแต่พื้นน้ำจนไม่เหลือร่องรอยของหาดทรายให้เห็นจนปัจจุบัน

  หลังจากที่มีการสร้างสะพานสารสินในปี 2510 คอสะพานกลายเป็นปราการกั้้นน้ำทะเลขึ้นมาอีกชั้นอย่างไม่ตั้งใจ ด้วยอิทธิพลของกระแสน้ำที่ถูกขวางจนเกิดการหมุนวนอันสืบเนื่องมาจากการสร้างสะพานสารสินทำให้เกิดประการกีดขวางกระแสน้ำตามธรรมชาติ ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งทำให้หาดทรายอันสวยงามของท่านุ่นตรงช่องแคบปากพระถูกกัดเซาะจนเว้าแหว่งลึกเข้าไปในพื้นดินมากยิ่งขึ้น ประการที่เกิดจากการก่อสร้างสะพานทำให้หาดทรายด้านซ้ายของคอสะพานฝั่งพังงาหายไปจนหมดแต่มีหาดทรายงอกขึ้นมาทับถมบนด้านขวาของคอสะพานทดแทนนับเป็นแผ่นดินงอกที่เป็นผลประยชน์กับเจ้าของที่ดินอย่างมหาศาล


  จากจุดแคบสุดที่จะใช้ข้ามฟากตรงฝั่งท่านุ่นมีสภาพอยู่ในแนวป่าชายเลน  ทางกรมเจ้าท่าจึงต้องถมที่ป่าชายเลน(เป็นการสันนิษฐานส่วนตัว)เป็นถนนเรียบริมทะเลและสร้างเขื่อนหินกั้นกันการกัดเซาะตลิ่งไปเชื่อมกับท่าข้ามป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ที่ดินถมดังกล่าวปัจจุบันเป็นที่ดินกรรมสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย



ภาพเขื่อนกันการกัดเซาะถนน ฝั่งท่านุน่น


      ฝั่งท่านุ่นในอดีตร่มรื่นอยู่ภายใต้ร่มมะขามที่ปลุกเป็นทิวแถว มีร้านขนมจีนเจ้าอร่อยอยู่3เจ้าด้วยกัน ปลูกติดต่อกันอยู่ด้านซ้ายของถนน แต่ร้านที่ขึ้นชื่อเป็นที่ติดใจของนักเดินทางยุคนั้นคือร้านของคุณยายหม่อย ร้านขนมจีนทุกร้านจะหันหน้ารับลมทะเล รถที่จอดรอแพทางฝั่งท่านุ่นจะจอดด้านขวาของถนน




คุณยายหม่อย เจ้าร้านของขนมจีนที่อร่อยที่สุด ฝั่งท่านุ่น



    แนวถนนที่ตัดไปยังท่าเทียบแพท่านุ่นเป็นถนนราดยางมะตอยบนแนวคันดิน(กว้างประมาณ 150 เมตรโดยประมาณ)บนผืนป่าชายเลน ปลายสุดของถนนทอดยาวไปไปจรดทิศตะวันออกของช่องแคบปากพระติดกับท่าปากแหว่ง ส่วนท่าเทียบแพขนานยนต์จะสร้างตั้งฉากกับแนวถนน ท่าเทียบแพหรือท่าข้ามจะสร้างลงไปในทะเลหันไปทางทิศใต้ในทิศตรงข้ามกับท่าฉัตรชัยฝั่งเกาะภูเก็ต
     
      

ภาพเก่า- ท่าฉตรชัย ขณะเหล่าพสกนิกรกำลังรอรับเสด็จ
คราพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จภูเก็ตใน ปี 2502

         การสร้างท่าเทียบแพขนานยนต์

   ท่าเทียบแพทางฝั่งท่านุ่น สร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง มีช่องเทียบย่อยจำนวน 5 ช่องเทียบ แพขนานยนต์จะเข้าเทียบท่าตามช่องโดยขึ้นอยู่กับระดับน้ำทะเลขึ้นลง ท่าเทียบแพจะตั้งฉากกับถนนลงท่า รถยนต์ทุกคันที่มาจอดรอแพจะหันด้านคนขับหาชายทะเล แม้ถนนจะค่อนข้างแคบแต่ก็พอให้รถสามารถแล่นสวนกันได้สบาย   เมื่อรถคันสุดท้ายขึ้นพ้นจากแพ รถรอลงแพที่จอดรอบนถนนคิวแรกก็จะเริ่มสตาร์ทเครื่องค่อยๆเคลื่อนรถลงแพตามลำดับก่อนหลังตามสัญญาณมือของเจ้าหน้าที่ประจำแพขนานยนต์

      การออกแบบสร้างช่องจอดเเพให้หันไปทางทิศตะวันออก ตรงข้ามกับช่องน้ำตรงช่องปากพระทั้งฝั่งท่านุ่นและท่าฉัตรชัยเป็นความชาญฉลาดของผู้ออกแบบ เมื่อกระแสน้ำพัดทรายมาจากบริเวณปากพระจากทั้งสองฝั่งมาชนด้านหลังของท่าเทียบ(ทำให้ช่องเทียบแพไม่ถูกทรายถม)  ท่าเทียบแพทั้งสองฝั่งกลายเป็นกำแพงกั้นทรายมากองรวมกันตรงด้านหลังของท่าจนเป็นเกิดชายหาดที่สวยงามไปทั้งสองฝั่ง










เมือสะพานเกิด กฏการลงแพก้ถูกยกเลิก



    จากความคิดที่ว่าความล่าช้าในการข้ามฟากเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว แนวคิดการสร้างทางข้ามเกาะจึงเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนที่จะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่1 ดังนั้นความคิดที่จะเชื่อมเกาะภูเก็ตเข้ากับแผ่นดินใหญ่จึงเป็นความคิดก้าวหน้าของคนในพ.ศ.นั้น

    ความเจริญทางเศรษฐกิจในยุคนั้น ส่วนหนึ่งมีรายได้มาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่จากฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณ จังหวัดภูเก็ต พังงาและจังหวัดระนอง การผลิตแร่ดีบุกทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นที่นี่ดีเป็นอันดับต้นๆของประเทศ มีผู้คนมากมากเข้ามาทำมาค้าขายที่นี่การสัญจรไปมาก็เริ่มเป็นอุปสรรคจากจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว ความแออัดล่าช้าในการข้ามฟากจึงเกิดขึ้น 

   ความต้องการสะพานข้ามเกาะจึงถูกมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหา แนวคิดการถมถมทะเลเชื่อมเกาะภูเก็ตกับแผ่นดินใหญ่แห่งแรกของประเทศกลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วน มันจึงถูกบรรจุลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่1

   โครงถมทะเลเริ่มดำเนินการในปี 2494 โดยบริษัทรับเหมาสัญชาติญี่ปุ่นบริษัทหนึ่ง(ไม่ปรากฏชื่อ)เข้ามารับเหมาดำเนินการก่อสร้าง โดยใช้หินแกรนิตมาถมเชื่อมต่อตัวเกาะภูเก็ตกับแผ่นดินใหญ่ ออกมาจากทั้งสองฝั่งให้มาบรรจบกันกลางทะเล วัสดุหินแกรนิตฝั่งพังงามาจากไหนไม่ปรากฏแต่ทางฝั่งภูเก็ตหินทุกก้อนมาจากการระเบิดภูเขาที่บ้านคอเอนซึ่งห่างจากท่าฉัตรชัยประมาณ5กิโลเมตร
   การก่อสร้างประสพปัญหาเนื่องจากการะแสน้ำเชี่ยวตอนขึ้นและลงได้พัดพาก้อนหินช่วงตอนกลางช่องแคบหลุดไปกับกระแสน้ำในทะเล หลังจากการถมหินลงไปแล้วประมาณด้านละ200เมตร บริษัทผู้รับเหมาได้ประสพภาวะขาดทุนเนื่องจากไม่สามารถสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาจ้างจนต้องละทิ้งงานและทิ้งเครื่องจักรไว้ที่ไซส์งานเป็นจำนวนมาก

 การก่อสร้างยุคใหม่
  การก่อสร้างได้่เริ่มต้นอีกครั้งในสมัยนายพจน์ สารสินเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ โดยได้ว่าจ้างบริษัท Cristiani &Nelson(Thailand) Ltd.มาสานต่อโครงการณ์ในส่วนที่เหลืออีก330เมตรกลางทะเล
   ด้วยหลักวิศวกรรมสมัยใหม่ มีการสร้างตอหม้อสะพานในทะเลแบบตอหมอเดี่ยวรองรับคานสะพาน บนช่องจราจรแค่สอง ระดับคานสะพานสูงกว่าระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดไม่มากนัก การก่อสร้างได้ดำเนินไปด้วยความราบรื่นท่ามกลางข่าวลือต่างๆนานาแต่ก็แล้วเสร็จภายในเวลากำหนดจนเปิดใช้งานเป็นทางการได้ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2510 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 28,770.00 บาทรวมระยะก่อสร้างทั้งสิ้น 13 ปี แพขนานยนต์ก็ตกยุคตั้งแต่บัดนั้นพร้อมๆกับกฏของการลงแพก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
      

    สะพานแล้วเสร็จ ยุคแพก็สิ้นสุด

    กฏง่ายๆของการลงแพ

   รถคันไหนเครื่องยนต์เกิดขัดข้องระหว่างการลงแพ รถคันนั้นจะถูกตัดสิทธิ์การลงแพไปโดยปริยาย รถคันหลังจะลัดคิวลงแพแทนทันที รถลงแพได้จำนวนจำกัดตามขนาดและน้ำหนักของรถที่เจ้าหน้าที่บนแพจพชะเป็นผู้กำหนด เมื่อรถคนสุดท้ายลงจนเต็มแพแล้ว รถที่ลงแพไม่ได้ก็ต้องรอแพเที่ยวหน้า







สะพานท้าวเทพกระษัตตรีถ่ายจากถนนฝั่งท่านุ่น


    

      เมื่อมีสะพานมาแทนแพ
    ท่าเทียบแพเก่าถูกปล่อยร้าง ซัลเฟตจากน้ำทะเลกัดเซาะจนเสื่อมสภาพและเป็นที่เกาะของเพรียงทะเล มีสิ่งก่อสร้างที่ไม่มีระเบียบโดยรอบท่ามาบดบังความสวยงาน 
   หากลองจินตนการเอาสิ่งก่อสร้างขยะรอบๆท่าออกไป จะห็นความสวยงามผุดขึ้นมาในความนึกคิดถึงสีสันของการข้ามฟากในสมัยก่อนขึ้นมาในจินตนาการ นึกถึงภาพน้ำทะเลกระเพื่อมตอนแพเข้าใกล้ฝั่ง เสียงหวูดแพดังเตือนให้รถที่รอแฟอยู่บนฝั่งเตรียมตัวเพื่อการลงแพ
     การที่สะพานสารสินถูกสร้างต่อจากโครงสร้างงานเก่า คอสะพานจึงเป็นเป็นแนวกันทรายขึ้นมาโดยปริยาย เกิดหาดทรายที่งอกใหม่ตรงคอสะพาน  ส่วนหาดทรายเก่าบนฝั่งทั้งท่านุ่นถูกกระแสน้ำซัดหายไปสู่ธรรมชาติอีกครั้ง
   




สภาพท่าเทียบแพ ท่านุ่นตอนน้ำขึ้น ปัจจุบัน
  
     ธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่มีค่า การใช้ประโยชน์จากที่ดินแค่เป็นอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวไม่คุ้มกับคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของฝั่งทะเลอันดามัน
   ก่อนที่ความทรงจำของคนรุ่นเก่าจะถูกเพิกเฉยและหายไปโดยไม่มีการบันทึกเรื่องราว นอกจากคำบอกเล่าจากความทรงจำของคนรุ่นเก่าที่พากันล้มหายตายจากไปทีละคน สมควรที่หน่วยงานท้องถิ่นจะจัดรวบรวมเรื่องราวและเหตุการณ์ในอดีตเป็นกรณีย์ศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและจัดให้มีการดูแลรักษาของเก่าให้คงสภาพธรรมชาติไว้ 
   การทบทวนวางแผนอนุรักษ์และปลุกจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาที่มาที่ไปของท้องถิ่นเป็นสิ่งจำเป็น ท่านุ่นคือสถานที่ที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของชายฝั่งทะเลอันดามัน เป็นทรัพย์ทางจิตใจของคนทั้งสองฝั่ง แม้แพจะจากไป และท่าเทียบแพจะร้าง แต่ความทรงจำก็ยังคงอยู่กับคนทั้งจากฝั่งท่านุ่นของพังงาและฝั่งท่าฉัตรชัยของภูเก็ต 



ขอนินทาฝรั่งสักวัน

   ผมมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับชาวต่างชาติที่เป็นคนผิวขาวหรือที่เรียกกันว่าฝรั่งอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากผมเปิดร้านอาหารเล็กๆ มีลูกค้าฝรั่งที่คุ้นเคยชอบพอกันอยู่หลายคนเนื่องจากการเปิดใจรับการวิจารณ์ตลอดจนรับฟังการปรับทุกข์และเข้าร่วมวงนินทาคนไทยร่วมชาติที่นิสัยไม่ดีเป็นบางครั้งจึงมีโอกาสได้มีอารมณ์ร่วมในการด่าคนไทยกับพวกเขาอยู่บ่อยครั้ง ฝรั่งที่ชอบดูแคลนคนไทยส่วนใหญ่ก็เป็นฝรั่งทีมีภรรยาเป็นคนไทยกันทั้งนั้น บ้างก็พอพูดไทยได้รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยเกษียณมาอาศัยชื่อภรรยาทำธุรกิจเล็กๆประเภทร้านอาหาร คนฝรั่งเหล่านี้มีมุมมองต่อคนไทยค่อนข้างเป็นลบ พวกเขาเหล่านี้คิดว่าได้เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตจากภรรยาของเขาเหล่านั้นดีและพอเพียงแล้ว
      สรุปมุมมองต่อคนไทย โดยฝรั่งจะมองคนไทยว่า
1 คนไทยคิดถึงเรื่องเงินเป็นอันดับแรก
2 คนไทยส่วนใหญ่ขี้เกียจไม่สู้งานหนัก
3 คนไทยชอบโกงคนต่างชาติโดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท๊กซี่
4 ผู้หญิงไทยจำนวนมาก ทำงานในธุรกิจค้ากาม
5 คนไทยส่วนใหญ่ยากจนแต่ชอบโอ้อวดใช้จ่ายเกินตัวโดยไม่มีเหตุผลเช่น การซื้อรถโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย
6 ผู้หญิงไทยที่อยากมีสามีฝรั่งด้วยเหตุผลเพราะอยากสบายและการมีชีวิตที่ดีกว่า
7 คนไทยส่วนใหญ่แยกคำว่า Request กับ borrow ไม่ออก จึงมักไว้ใจไม่ได้โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ  ทองๆ(ยืมเงินแล้วมักไม่ยอมคืน)
8 คนไทยไม่ชอบแสดงความคิดเห็น ชอบคล้อยตามเพราะไม่มีความคิด จึงเป็นการเสียเวลาที่จะสนทนากับคนไทย
9 คนไทยชอบดูถูกคนที่มีสถานะต่ำกว่า
    (ผมเขียนคำว่าคนไทยจนเมื่อยมือ เพราะฝรั่งมันไม่พูดเรื่องคนพม่าหรือคนเขมรให้ผมฟังเลย)

  ข้อปฏิบัติที่ผมค้นพบว่าต้องทำเพื่อเป็นต้องแก้ลำฝรั่งเหล่านี้
1 เลิกนับถือบ้าเห่อฝรั่งให้เป็นนิสัยประจำชาติไปเลย
2 เวลาต้องการเรียกความสนใจให้ฝรั่งหันมา ให้เริ่มคำว่า Excuse me ทุกครั้ง(ห้ามเริ่มด้วยคำว่า เฮ้เป็นอัดขาด)
3 อย่ายิ้มโดยไม่สมเหตุผล เพราะพวกนี้จะเรียกยิ้มสยามของเราว่าCrazy smileและไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องยิ้ม
4 ถ้าจะให้ความช่วยเหลือใคร ต้องถามก่อนว่า Can I help you ?ทุกครั้งเพราะคนฝรั่งส่วนใหญ่จะไม่ช่วยเหลือคนที่ไม่ขอร้อง
5 พบเห็นคนฝรั่งมากับครอบครัวและมีเด็กที่น่ารักมาด้วย อย่าเพิ่งไปรบกวนหรือขออุ้มเด็กเป็นอันขาดจนกว่าจะรู้จักและสนิทสนมกันแล้ว แล้วค่อยบอกพวกเขาว่า ลูกคุณน่ารักจัง
6 คำว่า ขอบคุณเป็นแค่ธรรมเนียม ไม่ใช่หมายความว่าเขาจะซาบซึ้งอะไรคุณ
7 การเริ่มสนทนาครั้งแรก อย่าถามเรื่องส่วนตัว การถามว่าคุณมาจากประเทศไหนดูเป็นการดีแต่ส่วนใหญ่ คุณจะไม่ได้พบเขาอีกเลย(ผมทำลูกค้าหายไปเยอะก็เพราะไปสนใจตัวเขาจนเขารู้สึกอึดอัด)
8 ระวังการตอบรับคำเชิญไปกินอาหารค่ำกับฝรั่งสองต่อสองเมื่อพบกันครั้งแรก เขาจะคาดหมายเอาว่า เรื่องจะไปจบลงบนเตียง อันนี้ผมไม่ทราบว่าจะจริงแค่ไหน แต่จากประสพการณ์เท่าที่เห็น มักจะเป็นเช่นนี้จริง(ไม่ขอเล่ารายละเอียด)
9 การคบกับฝรั่งให้ยั่งยืน ต้องยึดระบบ ต่างคนต่างจ่ายและให้เคารพเรื่องเวลา(ผมก็เคยตกม้าตายเรื่องเวลามาแล้ว)
10 เมื่อคบกับฝรั่ง อย่าให้มีบุคคลที่สามเข้าไปเกี่ยวข้อง นอกจากเขาจะออกปากเชิญก่อน
11 การไปเยี่มเขาถึงบ้านถือเป็นโอกาสพิเศษมากๆ ถ้าเขาเชิญเรา เขาจะต้อนรับด้วยความจริงใจ
12 หลังจากไปตามคำเชิญ ควรใช้เวลาไม่เกิน2ชั่วโมงแล้วรีบลากลับ
13 การที่เขาปล่อยให้คุณอยู่ตามลำพังแล้วเขาหันไปทำงานอื่นสามารถแปลเป็นภาษามนุษย์ได้ว่า "ขอเชิญคุณกลับได้แล้ว"
14 ห้ามไปเยี่ยมฝรั่งแบบไม่นัดหมายโดยเฉพาะตอนเวลาอาหาร
15 มีฝรั่งเจ้าของภาษาหลายคน ฟังภาษาอังกฤษของคุณไม่ออก ดังนั้นเวลาพูดภาษาอังกฤษ ถ้าคุณพูดได้ชัดและถูกต้องก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าพูดเร็วแบบผิดๆถูกๆหรือพยายามเลียนแบบสำเนียงพวกเขาจนเกินไป เขาจะรู้สึกลำบากเพราะฟังไม่เข้าใจและอึดอัดที่จะคุยด้วย
16 เวลาสนทนากันอย่าพยายามแสดงให้เขารู้ว่าคุณกำลังจะเรียนภาษาอังกฤษกับเขา จะทำให้การสนทนาไม่ยืดยาว การคุยกันคือการเรียนที่ดีอย่างหนึ่ง ถ้าคุณไม่เข้าใจก็ถามได้อย่าทำเป็นเข้าใจแล้วทำอะไรผิดๆเขาจะเข้าใจผิดว่า คุณไม่รักษาสัญญา
17 ถ้าคุณจะชวนเขาไปเที่ยวควรบอกด้วยว่าจะกลับเมื่อไรและต้องรักษาสัญญาตามนั้น

    นิสัยของฝรั่งส่วนใหญ่(Expat ที่เข้ามาอาศัยในเมืองไทย)
1 รักความยุติธรรมตามแบบฉบับของฝรั่ง ไม่ชอบให้ใครเอารัดเอาเปรียบแต่ชอบต่อรองเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ
2 ชอบอ่านหนังสือคนเดียว ขณะอ่านหนังสืออย่าไปรบกวนอย่างเด็ดขาด
3 ชอบการนัดหมายที่เป็นกิจลักษณะ ถ้าไปเยี่ยมโดยไม่นัดหมาย จะถือเป็นการพบโดยบังเอิญ ถ้าเขาไม่แสดงท่าทีว่าจะมีเวลาให้ เราจะทำได้แค่ทักทายเสร็จแล้วต้องรีบลากลับทันที
4 การต้อนรับขับสู้จะเป็นไปตามกรณีเท่านั้น ดังนั้นการได้รับเชิญไปกินอาหารในบ้านฝรั่งจึงถือเป็นกรณีพิเศษจริงๆ ถ้าไม่ได้รับเชิญหรือไม่ได้แจ้งให้ทราบก็ไม่ควรไปมาหาสู่(โดยพาะตอนใกล้เวลาอาหาร)
5 ส่วนใหญ่มีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง ฝรั่งเคยชินกับการอยู่แบบสังคมเดี่ยวแบบครอบครัวเล็กๆและเป็นส่วนตัว มาก หากใครมีโอกาสไปเยี่ยมเขาที่ต่างประเทศ(แม้จะเกี่ยวดองกันแล้ว)จะต้องไม่ไปรบกวนเรื่องอาหารและที่พักอย่างเด็ดขาด
6 มีความคิดที่เสมอภาคเป็นพื้นฐาน ดังนั้นถ้ามีการใช้ของร่วมกันจะต้องมีการแชร์ค่าใช้จ่ายทุกครั้งนอกจากเขาจะบอกหรือตกลงล่วงหน้าว่า เขาจะเป็นคนจ่าย
7 มีนิสัยเปิดเผยตรงไปตรงมา เวลาคุยต้องมองหน้าและจ้องมองตา(ไม่ต้องถึงกับถลึงตาใส่) การพูดจาอ้อมค้อมและไม่มองหน้าขณะพูดคุย เขาอาจจะไม่เข้าใจแม้เราจะใช้ภาษาอังกฤษได้ดีแค่ไหนก็ตาม
8 ชอบการพูดจาที่มีเนื้อหาชัดเจนบนข้อมูล การพูดภาษาอังกฤษเก่งคือการพูดให้เขาเข้าใจ ไม่ได้หมายถึงพูดให้ได้สำเนียงเหมือนเขา อย่าใช้คำโตขณะพูดคุยให้ใช้คำง่ายๆพื้นๆ และอย่ามั่ว อย่าพูดพึมพำในลำคอจะกลายเป็นความไม่จริงใจต่อคู่สนทนา