สะพานท้าวเทพฯถ่ายจากถนนฝั่งท่านุ่น |
รถหนังขายยา(หนังเร่)บนเรือเหล็กที่ข้ามมาจากภูเก็ตมาขึ้นฝั่งที่ท่านุ่น
|
นานๆจะมีรถจากกรุงเทพฯมาข้ามแพที่นี่สักครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นรถฉายหนังเร่หรือที่เรียกกันว่า "หนังขายยา" จะข้ามจากแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะภูเก็ตด้วยแพขนานยนต์ ซึ่งคำเรียก"แพขนานยนต์"นี้ จะไม่เป็นที่คุ้นหูชาวบ้านในสมัยนั้นนัก ท่าเทียบแพขนานยนต์จะถูกเรียกว่าท่าเรือ"ท่านุ่น" ส่วนฝั่งตรงข้ามเรียก ท่าเรือ "แหลมหรา" ส่วนตัวแพขนานยนต์ คนภูเก็ตจะเรียกแบบให้เกียรติชาวพังงาว่า"เรือท่านุ่น" แต่ชาวบ้านท่านุ่นกลับเรียกแพขนานยนต์ว่า
" เรือเหล็ก " ไปเสียอีก
ท่านุ่นและท่าฉัตรชัยต่างถูกใช้เป็นท่าข้ามไปมาระหว่างสองฝั่งตั้งแต่ครั้งยังไม่มีแพขนานยนต์ ท่าทางฝั่งซ้ายของช่องปากพระเรียกว่า "ท่านุ่น" ส่วนฝั่งขวาเรียกว่าท่าฉัตรชัย หากมองท่านุ่นจากท่าปากแหว่งที่อยู่ติดกัน ก็จะเห็นท่านุ่นได้ชัดเจนแต่แปลกตาไปอีกแบบ โดยความเห็นส่วนตัวแล้วสันนิษฐานว่า บริเวณที่ตั้งของท่านุ่นน่าจะเกิดจากการถมดินบนป่าชายเลน เนื่องจากที่ตั้งท่าเรือยื่นเป็นแหลมอยู่ระหว่างคลองท่านุ่นกับทะเลช่องแคบปากพระ กรมเจ้าท่าจึงได้ถมที่ให้เป็นคันดินกว้างบนพื้นป่าชายเลนแล้วตัดถนนลาดยางมะตอยลงบนคันดินเป็นระยะทางยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตร
คลองท่านุ่น อยู่ด้านหลังของท่าเรือท่านุ่น |
กระบวนการลงแพ
การข้ามฟากเป็นกระบวนการง่ายๆไม่ซับซ้อน เริ่มตั้งแต่รถเริ่มลงแพ จัดตำแหน่งจอด ปิดระวางแพ แพออกจากท่าและจะเสร็จสิ้นกระบวนการเมื่อรถคันสุดท้ายขึ้นพ้นจากแพ เมื่อรถขึ้นจากแพจนครบหมดทุกคัน รถที่จอดรอแพบนท่าจะเริ่มสตาร์ทเครื่องยนต์เพื่อจะเริ่มกระบวนการลงแพในเที่ยวต่อไป
การลงแพจะต้องรอเจ้าหน้าที่บนแพให้สัญญาณจึงจะเคลื่อนรถลงแพได้ตามลำดับก่อนหลัง การลงแพต้องทำด้วยความระมัดระวังและเข้าจอดสลับซ้ายขวาในตำแหน่งที่เจ้าหน้าที่บนแพจัดให้จนกว่ารถจะเต็มระวาง การข้ามฟากทุกเที่ยวจะวนเป็นรอบแบบนี้จนถึงเที่ยวแพเที่ยวสุดท้ายของวัน
พื้นที่ระวางบนแพมีความกว้างเท่ากับ 2ช่องจราจรบนถนน เปิดให้บริการตั้งแต่ตี 5ถึง 2ทุ่ม นอกเหนือจากเวลานี้จะต้องยื่นคำร้องขอใช้บริการเป็นกรณีพิเศษจากนายท่าและต้องจ่ายค่าธรรมเนียม(เรียกว่าถูกปรับ)ที่แพงมากในยุคนั้น
ภาพฝั่งท่านุ่นปี 2502 จากภาพยนต์ส่วนพระองค์ |
ท่าเทียบแพ เหลือให้เห็นเพียงแค่นี่ ในปัจจุบัน |
การข้ามฟากที่ใช้แพขนานยนต์เป็นพาหนะหลักสิ้นสุดลงเมื่อสะพานข้ามทะเลแห่งแรกของประเทศสร้างแล้วเสร็จและถูกเปิดใช้งาน ในปี 2510 ตอนนั้นสะพานเป็นของใหม่ที่สามารถลดข้อจำกัดของการเดินทางได้ดีกว่าแพขนานยนต์ ในระยะแรกมันถูกรับหน้าที่ให้บรรทุกรถหนักที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นสะพาน แต่ต่อมาเมื่อกรมทางหลวงอนุญาตให้รถยนต์ทุกประเภทขึ้นสะพานได้โดยไม่จำกัดน้ำหนัก แพขนานยนต์ก็หมดภารกิจไปโดยปริยาย
ถนนเรียบทะเลไปยังท่านุ่นสมัยปัจจุบัน |
ชุมชนท่าเรือท่านุ่นและท่าฉัตรชัยแทบเป็นชุมชนร้างในช่วงเปลี่ยนผ่าน รถที่ข้ามสะพานสารสินเป็นครั้งแรกต่างก็ตื่นตาตื่นใจกับความแปลกใหม่ สายตาทุกคู่จับจ้องไปยังสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์รูปโค้งที่ครอบทะเล สลับกับการมองไปยังขอบฟ้าตรงช่องแคบปากพระที่อยู่ไม่ไกลจากสะพาน
เรื่องราวเก่าๆถูกลืมจนเกือบหมด เหลือแค่เกร็ดประวัติศาสตร์เล็กๆเพียงบางส่วนที่เก็บรวบรวมจากคำบอกเล่าของคนยุคแพขนานยนต์กับหลักฐานภาพถ่ายเก่าๆที่ถูกบันทึกไว้โดยตากล้องสมัครเล่น แต่น่าเสียดายที่ภาพถ่ายเหล่านั้นมีจำนวนน้อยจนยากที่จะนำมา"เล่าด้วยภาพ" นอกจากการปะติดปะต่อเรื่องราวอย่างระมัดระวังในเนื้อหาจากคำบอกเล่าของคนเก่าๆที่ยังเหลืออยู่ไม่กี่คน
ปากบาง ท่านุ่น |
เรื่องราวเก่าๆถูกลืมจนเกือบหมด เหลือแค่เกร็ดประวัติศาสตร์เล็กๆเพียงบางส่วนที่เก็บรวบรวมจากคำบอกเล่าของคนยุคแพขนานยนต์กับหลักฐานภาพถ่ายเก่าๆที่ถูกบันทึกไว้โดยตากล้องสมัครเล่น แต่น่าเสียดายที่ภาพถ่ายเหล่านั้นมีจำนวนน้อยจนยากที่จะนำมา"เล่าด้วยภาพ" นอกจากการปะติดปะต่อเรื่องราวอย่างระมัดระวังในเนื้อหาจากคำบอกเล่าของคนเก่าๆที่ยังเหลืออยู่ไม่กี่คน