วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สารสิน- ช่องปากพระกับจักรยาน

     ตอนผมปั่นจักรยานไปสารสินครั้งที่แล้วได้มีโอกาสไปยืนบนท่าเทียบแพเก่าฝั่งท่าฉัตรชัยอยู่คนเดียว นึกถึงความหลังย้อนไปถึงวันเก่าๆครั้งที่เคยข้ามไปมาระหว่างฝั่งพังงาและฝั่งภูเก็ตด้วยแพขนานยนต์ตรงช่องแคบปากพระ ความทรงจำเก่าๆก็พรั่งพรูออกมาจนอยากเล่าให้คนรุ่นใหม่ๆฟัง




บนท่าเทียบแพขนานยนต์

น้ำทะเล ตรงช่องแคบปากพระ 
    ช่องปากพระคือทางออกสู่ทะเลอันดามัน เป็นจุดแคบที่สุดกว้างประมาณ 660เมตร อยู่ระหว่างแผ่นดินใหญ่ฝั่งพังงากับเกาะภูเก็ต ใช้ เป็นจุดข้ามไปมาระหว่างสองฝั่งตั้งแต่อดีต ต่อมาเมื่อความเจริญทางคมนาคมยุคใหม่มาถึง กรมทางในสมัยนั้น(กรมทางหลวงปัจจุบัน)ได้จัดให้มีแพขนานยนต์ลำเลียงพาหนะข้ามฟากไปมาระหว่างสองฝั่งส่วนกรมเจ้าท่ารับผิดชอบสร้างท่าเทียบ ท่าเทียบแพฝั่งพังงามีชื่อเรียกว่าท่านุ่น ส่วนฝั่งภูเก็ตเรียกว่าท่าฉัตรชัย

        การข้ามแพ :

    ก่อนพ.ศ.2510 การข้ามฟากจากฝั่งแผ่นดินใหญ่พังงาไปยังเกาะภูเก็ตใช้เวลาอยู่บนแพขนานยนต์  ราว 10-15 นาที มีแพประจำท่าอยู่สองลำแล่นสวนกันไปมา บางครั้งเมื่อเครื่องยนต์ของแพลำใดลำหนึ่งเกิดขัดข้อง ก็เหลือแพแค่ลำเดียว ต้องเสียเวลารอแพที่อยู่ฟากตรงข้ามกลับมารับอีกประมาณ 15-20 นาที รวมเบ็ดเสร็จ ใช้เวลาในการข้ามฟาก 25-35 นาทีโดยประมาณ 



รถลงแพฝั่งท่านุ่น


      การข้ามแพจะต้องคอยแพเข้าเทียบท่า ระหว่างรอเที่ยวแพ คนส่วนใหญ่จะกินขนมจีนเป็นการฆ่าเวลา เส้นขนมจีนที่ท่านุ่นท่าฉัตรชัยถูกจัดแบ่งเป็น " ลูก " (ทางใต้เรียกขนมจีนเป็น "ลูก" เท่ากับคำว่า"จับ"ในภาษากลาง)จัดเรียงในตะกร้าหวายคลุมด้วยผ้าขาวบางกันสิ่งสกปรกและแมลงวันตอม เมื่อลูกค้าสั่งขนมจีน แม่ค้าจะหยิบขนมจีน 3-4 ลูกใส่ถ้วย สังกะสี(ถ้วยเหล็กเคลือบ)ราดน้ำแกงจนท่วมเส้นส่งไปยังโต๊ะลูกค้า บนโต๊ะมีผักเกร็ด(ผักเคียง)ใส่ถาดวางไว้ให้หยิบกินกับขนมจีนตามสะดวก  ขนมจีนที่นั่นจะกินคู่กับไข่ต้ม หรือ ปาท่องโก๋  มันดูแปลกๆในสายตาคนภาคอื่นแต่มันก็เป็นวัฒนธรรมการกินอย่างหนึ่งของที่นั่น



ภาพคุณยายหม่อย เจ้าของร้านขนมจีนยุคนั้น



รถโดยสารกำลังขึ้นจากแพฝั่งท่าฉัตรชัย ปี 2495


         ต่อมาเมื่อสะพานสารสินถูกเปิดใช้งานในปี 2510 แพขนานยนต์ถูกเลิกใช้โดยปริยาย รถแล่นข้ามไปมาระหว่างสองฝั่งอย่างสะดวกและรวดเร็วบนสะพานเล็กๆที่สร้างแบบง่ายๆราคาถูก(28.77ล้านบาทในยุคนั้น) ด้วยคานและตอหม้อสะพานอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลสูงสุดไม่มากนัก เรือเล็กจะสามารถลอดผ่านได้เฉพาะตอนน้ำลงเท่านั้น ทางแล่นบนสะพานแบ่งเป็น2ช่องจราจร พอให้รถสวนไปมาแบบสบายๆ  สะพานช่วยย่นเวลาการข้ามฟากจาก 25-35 นาทีจนเหลือ 2 นาทีโดยประมาณ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น 12-17 เท่า ทำให้ท่าเทียบแพถูกทิ้งให้เป็นท่าร้างไปโดยปริยาย แพขนานยนต์ถูกโอนไปใช้งานที่ท่าหัวเขาแดงจังหวัดสงขลา 



The old bridge

    ภาพรถจอดรอแพขนานยนต์ทั้งสองฝั่งหายไป พฤกติกรรมการกินขนมจีนระหว่างรอแพเลิกไปตามกาลเวลา ภาพการชูถาดใส่อาหารเหนือไหล่ เร่เสนอขายสินค้าข้างรถโดยสารหายไปพร้อมๆกับพ่อค้าแม่ค้าเร่ข้างรถที่ต่างต้องปรับตัวผันย้ายมาเร่ขายบนรถโดยสารสาธรณะที่โคกกลอยแทน ร้านขายขนมจีนทั้งสองฝั่งหายไป พ่อค้าแม่ค้าทั้งฝั่งท่านุ่นและท่าฉัตรชัยต่างต้องเลิกอาชีพที่ทำมาหลายปีไปอย่างถาวร

     ความเจริญช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางอย่างมีนัยสำคัญ สะพานสารสินได้ลบความทรงจำเกี่ยวกับแพขนานยนต์จนเหลือเป็นตำนาน คนรุ่นใหม่นึกภาพบรรยากาศการข้ามฟากด้วยแพขนานยนต์ไม่ออก ความทันสมัยมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทยยุคใหม่ แต่มันก็ทำลายวิถีดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นบางเสี้ยวไป




สะพานเก่า ก่อนถูกแปรสภาพเป็นจุดชมวิว


     หลายปีต่อมาเมื่อการจราจรแออัดขึ้น สะพานข้ามทะเลอีกแห่งถูกสร้างมายืนคู่กับสะพานสารสิน มันใหญ่และใหม่กว่าแต่การออกแบบและรูปลักษณ์เข้ากันได้ไม่ดีนักกับสะพานเก่า
    รถแล่นข้ามฝั่งไปมาวันละร่วมหมื่นคันแต่มีน้อยคันนักที่จะแวะทักทายอดีตของที่นี่ การข้ามฝั่งที่รวดเร็วขึ้นทำให้ท่านุ่นท่าฉัตรชัยเป็นแค่จุดผ่าน การข้ามฟากใช้เวลน้อยลงเหลือ 1.5 นาที..เร็วกว่าความเร็วสูงสุดในอดีตบนแพขนานยนต์ ถึง 17-20 เท่า  



สะพานใหม่ที่สุด - กำลังจะมา ช่วยย่นระยะเวลาลงได้ อีก 0.3 นาทีโดยประมาณ

   


สารสินกับจักรยาน :

    จากการที่สารสินเคยเป็นจุดห่างไกลอยู่ทิศเหนือสุดของเกาะ แต่ในปัจจุบันมันกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักปั่นจักรยานสมัครเล่นไปแล้ว ด้วยความยาวจากหัวเกาะถึงท้ายเกาะวัดได้ 43กิโลเมตรนับเป็นระยะทางที่เหมาะสมในการปั่นทางไกลที่จบได้ภายในวันเดียว การปั่นไปกลับ 86กิโลเมตรเปรียบเป็นประกาศนียบัตรประจำตัวของนักปั่นสมัครเล่นที่ภูเก็ต การปั่นไปสารสินสัปดาห์ละครั้งกลายเป็นกิจวัตรและคำคุยโตที่นักปั่นทุกคนต้องมีไว้เล่า แต่ทุกครั้งที่ไปสารสิน นักปั่นเหล่านี้จะแวะพักเหนื่อยบนจุดชมวิวไม่เกิน15นาทีแล้วจะปั่นกลับทันที    

   ตอนปั่นไปสะพานสารสินครั้งแรก ผมกำหนดจุดเริ่มต้นที่สี่แยกท่าเรือ ใช้ความเร็วในการปั่นสม่ำเสมอโดยไม่แวะพัก มาถึงหาดทรายแก้วระยะทาง31กิโลเมตรใช้เวลา 1 ชั่วโมง กับ 16นาที ได้แวะพักเหนื่อยและทำธุระส่วนตัวที่หาดทรายแก้วประมาณ15นาที ก่อนที่จะปั่นต่อไปอีก1กิโลเมตรก็ถึงจุดชมวิวสารสินซึ่งที่นั่นเป็นจุดพบปะของนักปั่นที่มีจุดหมายปลายทางที่สารสิน มีนักปั่นหลายคนที่ปั่นตามหลังมาตอนที่ผมแวะพักที่หาดทรายแก้ว ทุกคันล้วนไปถึงจุดหมายก่อนหน้าผมทั้งหมด




   จุดชมวิวที่สารสินเป็นจุดพักจุดสุดท้ายของการปั่นขาไป ทุกคนจะถ่ายรูปวิวสวยๆยามเช้าไว้เป็นที่ระลึก เวลา15นาทีเป็นเวลาที่เพียงพอกับการพักเหนื่อยก่อนกลับ การทักทายเพื่อนนักปั่นด้วยกันคือธรรมเนียมปฏิบัติ การเดินทางกลับทันทีคือสิ่งที่ทุกคนทำ ผมเองก็ไม่มีข้อยกเว้น ถึงจะหมดแรงหรือจะเหนื่อยแค่ไหนแต่เมื่อไม่มีแผนจะปั่นไปฝั่งพังงาก็ต้องรีบกลับตามอย่างคนอื่นก่อนที่จะต้องกล่าวคำทักทายซ้ำๆกับนักปั่นชุดใหม่จะมาถึงในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า 





       กลับถึงท่าเรือ(อนุสาวรีย์ท้าวเทพฯ)อย่างความปลอดภัย รวมระยะทางไปกลับ 62 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่งโมงครึ่ง(หักเวลาพักแล้ว) ใช้พลังงานไป 850 กิโลแคลอรี่ 

1 ความคิดเห็น: